Mar 29

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2553 เวลา 20.30 ของทุกประเทศทั่วโลก ผู้คนตั้งหน้าตั้งตารอที่จะดับไฟช่วยดาวเคราะห์สีฟ้าดวงนี้กันอย่างแข็งขัน มดเห็นหลายฝ่ายช่วยกันประโคมข่าว โดยเฉพาะสื่อทาง Net ไม่ว่าจะเป็น MSN / Twitter / Hi5 / facebook ต่างคนต่างช่วยกันเตือน อย่าลืมนะเธอ ช่วยกันปิดไฟหนึ่งชั่วโมงด้วย ไม่งั้นโลกเราม้วยแน่ … แต่ขอโทษค่ะ มดไม่อินกะเรื่องนี้เลยซักนิด

การช่วยกันปิดไฟหนึ่งชั่วโมงช่วยโลกได้แบบยั่งยืนตรงไหน ถ้าคุณไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตโดยทั่วไป ถ้าคุณไม่เคยตระหนักกันจริง ๆ ว่าเราเผาผลาญทรัพยากรของโลกไปแบบเกินทุน การปิดไฟหนึ่งชั่วโมง ก็เหมือนกับคุณใส่หน้ากากเปื้อนยิ้มแล้วหันมากอดคอแย้มยักโลกเพื่อนรัก แต่มืออีกข้างกลับแทงข้างหลังแบบไม่ให้รู้ตัวต่างหาก นั่นล่ะที่มดรู้สึก

นี่ยังไม่รวมไปถึงการเสี่ยงต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากมีการปิดไฟพร้อมกับพรึ่บพรั่บจริงทั่วโลก แล้วโรงไฟฟ้าจะทำอย่างไร จะปล่อยกระแสไฟไปที่ไหน ถ้าคุณไม่รู้มดจะบอกให้ กระแสไฟเมื่อผลิตมาแล้วไม่สามารถกักเก็บได้ (อย่าไปพูดถึงแบตเตอรี่ที่เก็บได้นิดเดียว) จะต้องถูกปล่อยไปยังเครื่องรับ ถ้าเครื่องรับปิดพร้อมกันหมดโรงไฟฟ้าจะทำอย่างไร

โรงไฟฟ้าก็ต้องปิดเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งถ้าเป็นเขื่อนอย่างบ้านเราไม่มีปัญหาใหญ่ ๆ เท่าไหร่นัก แต่ถ้าเป็นในประเทศทางยุโรปที่ผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เป็นหลัก มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหยุดการทำงานเพียงหนึ่งชั่วโมง เพราะการทำงานสลับซับซ้อนไม่เหมือนสวิทท์ เปิดปุ๊บติดปั๊บเสียเมื่อไหร่ ดังนั้นการปิดไฟหนึ่งชั่วโมงเพราะคิดว่าจะประหยัดพลังงานนั้น อาจจะได้ความยุ่งยากในการทำงาน และค่าใช้จ่ายอีกบานตะไทตามมา

การปิดไฟหนึ่งชั่วโมง เป็นแฟชั่น
การปิดไฟหนึ่งชั่วโมง เป็นกระแส
ซึ่งมันไม่ยั่งยืน และช่วยอะไรโลกเราแทบไม่ได้เลย
มันเหมือนกับแฟชั่นถุงผ้า เพราะคิดว่าช่วยโลกร้อนนั่นแหละ

จริง ๆ แล้วคุณก็รู้ว่าจะช่วยลดทรัพยากรต่าง ๆ ลงได้อย่างไร
จริง ๆ แล้วคุณก็รู้ว่าคุณฟุ่มเฟือยกับมันมากแค่ไหน
และจริง ๆ แล้วคุณหยุดใช้ไม่ได้ ลดก็ยังไม่ได้เลย
คิดว่าการปิดไฟหนึ่งชั่วโมงจะชดเชยความรู้สึกผิดนั้นได้หรือไง?

คุณก็รู้อยู่ว่ามันไม่ได้! มันไม่จริง!

Mod-x

10 Responses to “Earth Hour”

  1. พา-หริ Says:

    กินลูกชิ้น 1 ไม้ ยังต้องมีถุงพลาสติก 1 ถุง แล้วซ้อนถุงพลาสติกหู้หิ้วอีก 1 ถุง กลายเป็นว่า..ภายในเวลา 5 นาที เราสร้างขยะถึง 3 ชิ้น (รวมไม้เสียบลูกชิ้นด้วย) ซึ่งต้องใช้เวลาย่อยสลายอีก หลายร้อยปี

    ฮูเล่…ขยะเต็มโลก ฮูเล่…ขนออกไปทิ้งอวกาศกัน ฮู่เล่…มีจิตสำนึกแล้วไม่สบายกาย ฮู่เล่…กูสบาย โลกจะแย่ช่างมัน ฮู่เล่ ฮู่เล่

  2. Cooler Says:

    แล้วมันเกี่ยวกับคำว่า “Earth Hour” ตรงไหนอ่ะ

  3. Mod-x Says:

    แคมเปญปิดไฟ 1 ชั่วโมง 27.03.10/20:30
    ใช้ชื่อว่า Earth hour

    http://www.earthhour.org/

  4. แม่พลอย Says:

    ช่วงเวลาที่ปิดไฟหนึ่งชั่วโมงมันมืด ไม่มีไฟใช้ ไม่มีหนังดูไม่ได้เล่นเน็ท…ก็ซื้อลูกชิ้นปิ้งเสียบไม้ใส่ถุงมานั่งกินเล่นกัน : )

  5. พี่แก้ว Says:

    สำหรับพี่ ค่อนข้างเข้าใจพวกแคมเปญการอนุรักษ์เรื่องสิ่งแวดล้อมยุคนี้ ทุกองค์กรเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมต้องใช้กลยุทธ์ไม่ต่างจากการตลาด พยายามกระหน่ำสื่อแทรกซึมเข้าไปสู่ชีวิตผู้คนให้มากที่สุด จะหยุดโปรโมท-หยุดแคมเปญรณรงค์พวกนี้ไม่ได้ เพราะฝั่งทุนนิยมเขามีกลยุทธ์ที่จะขยับหนีไปเร็วยิ่งขึ้น 5 ปีก่อนรู้สึกจะเริ่มกันตรงแค่ดับไฟ 5 นาที สำหรับคนตะวันออกอย่างเราๆ เคยรู้จักชีวิตไฟดับมาก่อน อาจจะรู้สึก “เฟกๆ เด็กๆ” มาเล่นดับไฟกัน เพราะสมัยเด็กๆ ไฟบ้านคนไทยนี่ดับๆ ติดๆ เกือบทุกอาทิตย์-เรื่องธรรมดา แต่สำหรับคนตะวันตก ประเทศเจริญๆ การดับไฟแค่ 1 ชั่วโมงช่วยกระตุ้นให้คนหยุดคิดได้ในระดับหนึ่ง แต่เป้าหมายแอบแฝงไกลๆ เป็นการผลักดันกันและกันในแง่การเมืองระหว่างประเทศ การโน้มน้าวให้มองเห็นความสำคัญเรื่องโลกร้อน โดยการปิดไฟแลนด์มาร์ก จะสั่งปิดได้นั้น รัฐต้องให้ความร่วมมือ ถ้าประเทศไหนยืนยันร่วมแคมเปญดับไฟเหมือนส่งสัญญาณว่า “ตระหนัก” (มีหลายประเทศใหญ่ๆ ไม่เอาด้วยก็เยอะ) พวกนักสร้างแคมเปญมีจุดประสงค์มุ่งไปที่ตัวหลักว่า สักวันสนธิสัญญาเกียวโตจะได้ถูกลงนามเอามาใช้ได้ในอนาคต-จริงๆ เพราะพูดเรื่องโลกร้อนมานานหลายปีจนคนชักเริ่มชิน เริ่มกลายเป็นแฟชั่น แต่จนแล้วจนรอดก็ยังผลักดันมาตรการทางกฎหมายแก้ภาวะโลกร้อนไม่สำเร็จ (ฝันและหวังเพิ่งสลายไปล่าสุดเมื่อตอนการประชุมที่โคเปนเฮเก้น ซึ่งคนหวังกันมากว่ามันน่าจะได้ถูกลงนาม เพราะโอกาสหน้าไม่รู้เมื่อไหร่ แต่สุดท้าย – ก็ปิ๋ว)

    ที่บ้านพี่ Earth Hour ได้ผลสรุปสืบเนื่องต่อมาว่า ทุกวันเสาร์ 1-2 ครั้งต่อเดือนเราจะปิดไฟ 1 ชม. ให้เป็นเวลาสังสรรค์ ลองหาอะไรมาทำแบบไม่ต้องพึ่งไฟฟ้า ไม่เล่น DS ไม่เล่น Wii พี่ปิดคอมพิวเตอร์ ไม่ฟังเพลง ไม่ดูทีวี นั่งเล่นเกม วาดรูป ถักนิตติ้ง โครเช่ต์อะไรก็ว่าไป แต่ต้องนั่งอยู่จุดเดียวกัน – ตรงที่มีแสงสว่าง ตั้งแต่พี่อยู่ที่นี่มา 12 ปี เจอภาวะไฟดับอยู่ไม่เกิน 3 ครั้ง คนที่นี่ไม่ค่อยตระหนักเท่าไหร่หรอกว่าชีวิตที่ไม่มีไฟฟ้า มันต้องเงอะงะขนาดไหน ลูกพี่แค่จะไปเข้าห้องส้วมเดินถือเทียนไป มันก็เงอะงะเหมือนเกิดใหม่ เด็กๆ ยังพูดถึงเรื่องตอนไม่มีไฟว่าเราไม่สามารถทำอะไรได้บ้างอยู่เลย จริงๆ มันเหมือนเป็นชั่วโมงทบทวนคิดถึงชีวิตยุคก่อน ชีวิตรอบกองไฟ ซึ่งนับวันมันจะยิ่งห่างไกลชีวิตยุคคนยุดกดปุ่มมากขึ้นไปทุกวัน

    อนึ่ง…หลายประเทศตอนนี้ใช้ green energy กันเยอะแล้วด้วยไง เมืองที่พี่อยู่นี่มีชุมชนใหญ่ๆ ที่บ้านทั้งหลังใช้โซล่าร์ เซลล์ การดับไฟในภาครวมหลายแห่งไม่ได้ส่งผลกระทบมากเท่าการปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ บ้านพี่ก็ใช้ไฟจากแหล่งจ่ายที่ปั่นมาจากพลังงานลมและน้ำมาหลายปีละ

    การปิดไฟ 1 ชั่วโมงไม่ใช่น่าจะเป็นแค่การชดเชยความรู้สึกผิด อาจจะเป็นดั่งการขอร้องให้คนบนโลกลองหยุดก้าวเท้า 1 ก้าว จะยืนนิ่งๆ อยู่กับที่ เหลียวซ้ายแลขวา หรือลองถอยหลัง 1 ก้าว …อะไรก็ได้ ขอเพียงลองหยุดพักสัก 1 ชั่วโมง – ลองดู

    พี่วนเวียนอยู่กับกระแสและแฟชั่นเรื่องสิ่งแวดล้อมมานาน ยังอดทนมองโลกในแง่ดีที่จะเป็นไปได้ เพราะเรายังต้องอยู่ร่วมเผชิญปัญหาพวกนี้ไปจนตาย ทิ้งโลกไว้ให้คนร่นหลังผจญต่อไป พี่จะมองเส้นทางที่ให้โอกาสและความหวังว่าเราจะสามารถกู้โลกได้-ไว้ก่อน … อันนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของพี่นะ

  6. Color Says:

    เป็นอีกหนึ่งความคิดเห็นที่ช่วยปลูกจิตสำนึกผู้คนได้ดีค่ะ ชอบค่ะ ^_^

  7. พี่แก้ว Says:

    มาตอบต่อ… (เพราะมดไปตอบพี่ไว้ที่บล็อก) มุมมองของมดที่เขียนออกมาก็เป็นคำถามแสกหน้าที่คนบ้าแคมเปญทั้งหลาย อ่านแล้วได้คิดเช่นกัน พี่ว่ามดมองประเด็นอีกมุม ตั้งคำถามได้ดี พี่น่ะถนัดแนวอาบน้ำผึ้ง พี่ล่ะเบื่อแฟชั่นเอะอะถือถุงผ้าช่วยโลกร้อนไม่น้อย – ขอบอก ; )

    ซูเปอร์มาร์เก็ตที่นี่เขาจะมีลังกระดาษเก่าๆ ที่ใส่สินค้าแกะขึ้นชั้นแล้วให้คนหยิบไปใส่ของกินของใช้ที่ซื้อกันจากซูเปอร์มาร์เก็ต แล้วคนก็ใช้ลังพลาสติกพับได้ไปใส่ของกันส่วนใหญ่ ถุงที่เขาใช้ใส่ของทนทานก็เป็นถุงพลาสติกใบใหญ่มากแบบใช้ไปได้ยาวนาน อาจถึง 20 ปี (พวกพลาสติกที่รีไซเคิลมาแล้ว) โดยเจตนา … วิธีการมันไม่ควรยึดติดอยู่แค่การถือถุงผ้าเท่านั้นที่ช่วยโลกร้อน มันอยู่ที่ทางเลือกในการปฏิบัติที่เราสามารถจะกระทำได้ ช่วงหลังๆ พี่ว่าสื่อบางสื่อก็ทำให้คนเขวไปมุ่งที่สัญลักษณ์เพื่อให้แสดงออกหยิบจับได้ มองข้ามการพื้นฐานความคิดและความเข้าใจที่จะทำให้คนไปต่อยอดคิดเอาเองได้มากขึ้นน่ะ จุดหมายเดียวกันแต่เราอาจทำได้หลายวิธีการ ไม่เช่นนั้นมันจะกลายเป็นการฮือเฮโลสร้างกระแสเป็นพักๆ

  8. Mod-x Says:

    มดอยู่ที่นี่เห็นชัด ๆ ถึงการใช้ชีวิตของคนที่ไม่ดัดจริตเรื่องช่วยกันลดปริมาณขยะ
    ที่ว่าไม่ดัดจริตก็เพราะเค้าทำกันเป็นปกติ ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องแปลก และไม่ได้มาชื่นชม เออ อวยกัน

    แล้วมดก็ได้เห็นคนจากบ้านเราที่มาเที่ยว แล้วช็อคกับ culture แบบนี้ หลายครั้งที่มดเจอลูกค้า ฟ้อง ว่า
    คนขายไม่ยอมใส่ถุงให้เวลาซื้อของ ทั้ง ๆ ที่ของที่ซื้อก็แสนแพง เช่น ครีมทาหน้า กระปุกละ ห้าสิบ หกสิบ ฟรังซ์
    คนขายก็ยื่นให้เปล่า ๆ หรือไม่ เวลาไปซุปเปอร์ แล้วคนขายไม่ใส่ถุงให้ แล้วก็ไม่มีถุงให้อีกต่างหาก อยากได้ต้องซื้อ

    แทนที่จะเรียนรู้ หรือทำความเข้าใจ กลับต่อว่า หาว่าฝรั่งขี้งกบ้าง หาว่าไม่มีวัฒนธรรมบ้าง
    มดก็ชี้ให้เห็นว่า ลองมองดูไปรอบ ๆ คนส่วนใหญ่ของที่นี่เค้าไม่ใช้ถุงกันพร่ำเพรื่อนะ เวลาไปซุปเปอร์
    ก็เตรียมถุงไปไม่ว่าจะเป็นถุงผ้า หรือ ถุงกระดาษเก่า หรือถ้าเป็นคุณยายก็ลากรถจ่ายกับข้าวไป

    พี่ ๆ ชาวไทยดูเหมือนเข้าใจ พยักหน้าหงึกหงัก
    พร้อมตบท้ายว่า อยู่เมืองไทยสบายที่สุดแล้วววววว

  9. พี่แก้ว Says:

    ลูกค้ามดคงอยากได้ถุงไปเป็นที่ระลึกเปล่า? พี่เคยเจอคนไทยฝากซื้อถุงฟ้าๆ ของ ikea กลับไปฝากกันอะ ที่เมืองไทยบอกไม่เอาถุงใส่ของ จะถูกมองหน้าแปลกๆ นะ นี่เป็นพฤติกรรมที่มีมานานแล้ว สมัยก่อนพี่ใช้เป้ใบใหญ่ๆ เวลาซื้ออะไรก็บอกเขาไม่เอาถุงยัดใส่กระเป้เลย เพราะขี้เกียจถือถุงๆ พนง. เคยอธิบายว่าถ้าซื้อของ (ตามห้าง) ไม่เอาถุงไม่ได้ เพราะเดี๋ยวไม่รู้ว่าคุณจ่ายเงินหรือยัง จะเทิ่งๆ เอาของใส่กระเป๋าออกจากห้างไปไม่ได้

    อีกเรื่องที่คนไทยอาจจะบ่น คือ พนง. ที่นี่ไม่บริการหยิบของใส่ถุงให้เรา เราต้องหยิบใส่ถุงเอง แล้วต้องเคลียร์พื้นที่หน้าเคาท์เตอร์ให้เขาไวไว สำหรับลูกค้าคนต่อไปด้วย เพื่อนพี่บางคนก็รู้สึกขัดๆ บ่นว่า พนง. เมืองนอกไม่เฟรนด์ลี่เลย ของก็ไม่หยิบใส่ถุงให้ พี่ก็เข้าใจเขาอะ วัฒนธรรมการซื้อ-ขาย ค่าจ้างที่นี่ หน้าที่เขาผิดกัน เมืองไทยมีแคชเชียร์คิดเงินคน อีกคนหยิบของใส่ถุงให้เรา อยู่ประเทศที่เคยยืนรอกรีดบัตรเครดิตอย่างเดียว มาเจอบริการแถวนี้ก็คงต้องทำใจกันหน่อย

  10. barley* Says:

    ได้ยินว่ามีกรเรียกประชุมห้างร้าน ว่าจะคิดเงิน 1 บาทต่อถุงพลาสติก 1 ใบ
    ไม่รู้ว่าไปถึงไหนค่ะ อ่านเจอแว้บๆเมื่อวันก่อน
    วิธีนี้เร็วดีนะคะ ถ้าเป็นได้จริงจะดีใจมาก
    ทุกวันนี้ก็พยายามประหยัดถุงมากๆแต่มองข้างตัวไม่มีใครทำเลย

    ส่วนเรื่องดับไฟ 1 ชั่วโมง นี่อยากรู้เหมือนกันว่าตัวเลขที่ลดลงได้ มันเท่าไหร่
    น่าตื่นเต้นดีค่ะ แต่ไม่รู้มาก่อนว่า โรงงานไฟฟ้า ผลิตแล้วไม่มีที่จ่าย มันจะเป็นยังไง

Leave a Reply