Jan 09

เมื่อต้นเดือนตุลามดได้ไปเยือนประเทศอิตาลี และได้เก็บข้อมูลเพื่อมาเขียนต้นฉบับนำเที่ยวอิตาลี ในชุด “เที่ยวไม่ง้อทัวร์” ซึ่งทำให้สองสามเดือนมานี้มดต้องมานั่งก้มหน้าก้มตาเขียนต้นฉบับที่กว่าจะออกมาเป็นตัวหนังสือแต่ละตัวช่างยากเย็นเข็นใจ เพราะประเทศอิตาลีเต็มไปด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์ จะแนะนำสถานที่สักแห่ง ก็มีเหตุให้ต้องพ่วงเรื่องราวแต่หนหลังแทบทั้งสิ้น แถมยังเป็นหนหลังที่ยาวไกลมิใช่น้อย

ช่วงที่เขียนถึงกรุงโรมและเมืองทางใต้ปอมเปอิ ก็ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องจักรวรรดิโรมัน และศาสนจักร จริง ๆ การค้นคว้าของมดก็ไม่ยากเย็นอะไร แบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ง่าย ๆ คือ 20% อ่านจากหนังสือและอินเตอร์เนต 20% ดูหนังหรือสารคดีที่เกี่ยวข้อง 60% ถามอ้วนให้อ้วนไปค้นในหนังสือให้อีกที ถ้าไม่มีอ้วนก็คงไม่มีหนังสือเล่มนี้แน่นอน

20% แรกนั้นทำให้เราได้ข้อมูลที่ทำให้พอจะมองภาพออก 20% ต่อมาทำให้ภาพที่เราคิดว่ามองออกชัดเจนยิ่งขึ้น และการได้พูดคุยกับอ้วนต่อจากนั้น ทำให้ภาพสมบูรณ์ขึ้นไปอีก

ช่วงนี้มดเขียนเกี่ยวกับเมืองฟลอเรนซ์ ซึ่งเป็นเมืองต้นกำเนิดยุคเรเนอซองซ์ เอาล่ะ ต้องสารภาพกันก่อน มดรู้จักคำว่าเรเนอซองซ์แค่ชื่อเท่านั้น มันติดหูติดปากเพราะได้ยินบ่อย พูดออกไปบ่อย รู้คร่าว ๆ ว่า ภาพวาดที่ผู้หญิงสวย ๆ ตัวยักษ์ ๆ เปลือยกายนั่นล่ะเป็นภาพวาดสไตล์เรเนอซองซ์ แต่หลังจากเริ่มต้นเขียนไปซักพักก็รู้มากขึ้นว่ามันมีอะไรมากกว่านั้นอีก ยุคนี้เป็นยุคที่คนฉลาดเริ่มไม่อยากถูกกดอยู่ภายใต้ความเชื่อเดียว อยากจะเอาสมองทั้งสองซีกที่คิดต่างออกมาสูดอากาศและเปิดประตูสู่โลกเสรี

การพูดถึงยุคเรเนอซองซ์ ก็ต้องมีการอ้างอิงถึงยุคก่อนหน้าคือยุคมืดของยุโรปหรือที่ได้ยินบ่อย ๆ ว่ายุคมิดเดิลเอจ (Middle Age) คงไม่ต้องให้มดสารภาพอีกนะ ว่ามดเพิ่งมารู้เอาจริง ๆ ตอนนี้น่ะแหละว่า ยุคนี้เป็นช่วงไหน มีอะไรเกิดขึ้น

หนังที่เราได้ไปยืมที่ห้องสมุดในเมืองมาดูชื่อเรื่องว่า The name of the rose อ้วนบอกว่า เป็นหนังที่น่าจะทำให้มดมองเห็นภาพของยุคมิดเดิลเอจ และอำนาจของศาสนจักรชัดเจนขึ้น ซึ่งก็จริง ในหนังเป็นเรื่องเล่าของพระในศาสนาคริสต์รูปหนึ่ง เล่าย้อนไปเมื่อครั้งยังเป็นเด็กลูกศิษย์ ติดสอยห้อยตามอาจารย์ (แสดงโดยฌอน คอนเนอรี่) ไปยังวัดแห่งหนึ่งในอิตาลี และได้ไปพบกับคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง ผู้ตายจะมีนิ้วสีดำ และลิ้นดำ

ในเรื่องจะมีบรรยากาศของยุคมืดอย่างแท้จริง เพราะภาพมันมืด ๆ มัว ๆ ตลอดทั้งเรื่อง (ประชดเล่นนะ) เราจะได้เห็น กลุ่มคนที่มีความเชื่องมงาย (พระในวัด) และตัวแทนของผู้ที่เลือกที่จะเชื่อโดยหลักการณ์และเหตุผล (ซึ่งก็คืออาจารย์และศิษย์ – พระเอกของเรื่อง) หนังทำให้มดเห็นชัดเจนว่า ในยุคนั้นผลตอบแทนของผู้ที่คิดต่างน่ากลัวแค่ไหน และศาสนจักรในยุคมืดก็ไม่น่าจะต่างจากระบบเผด็จการเท่าไหร่

(ติดใจอยู่นิดเดียวว่า สัญลักษณ์ในหนังมันชัดเจนเกินไป พระในวัดซึ่งเป็นตัวแทนของยุคมืด หน้าตาแต่ละคนดูประหลาดและไม่สมประกอบทั้งนั้น ส่วนพระอาจารย์ฌอนและลูกศิษย์ก็ดูหล่อล้ำสะอาดและส่องประกาย เหมือนเป็นแสงเทียนเล็ก ๆ ที่ส่งแสงสว่างเวลาอยู่ในกลุ่มพระอื่น ๆ ตลอดเวลา)

ในขณะที่ดูอาจารย์ฌอน กำลังสืบคดีในวัด มดก็นึกไปถึง ลีโอดาโน ดาร์วินชี่ ผู้ซึ่งได้สมญานามว่าเป็นผู้รอบรู้แห่งเรเนอซองซ์ อ้วนเรียกว่า Universal Genius เพราะฉลาดรอบรู้ในทุกแขนงวิชา ตอนที่ศึกษาชีวิตของดาร์วินชี่ ก็นึกไม่ออกว่า ในสมัยที่ยุโรปถูกครอบงำด้วยความเชื่อของคนเพียงกลุ่มเดียวนั้น อยู่ดี ๆ จะมีคนอย่างดาร์วินชี่ขึ้นมาได้ยังไง แต่พอเห็นอาจารย์ฌอนซึ่งคล้ายกับว่าสวมบทหัวหน้าหน่วย CSI ตรวจสอบหลักฐาน ก็พอเห็นภาพว่า ดาร์วินชี่ คงได้อ่าน ได้เห็น ได้เรียนรู้และวิจัยอย่างมากแน่นอน

แต่หลังจากดูหนังจบมาเทียบปีกันจริง ๆ ดาร์วินชี่ได้เปรียบอาจารย์ฌอนหลายขุม เพราะยุคของดาร์วินชี่ (ศตวรรษที่ 16) อะไร ๆ ที่เคร่งครัดก็เริ่มผ่อนคลายแล้ว แต่ยุคในหนังคือศตวรรษที่ 14 ยังถือว่าเป็นปลายยุคมืดอยู่เลย หนังสือหลายเล่ม (ในหนัง) ถูกเก็บซ่อนไว้ภายใต้กลไกลึกลับ เพียงเพราะเป็นมีข้อมูลที่จะให้ความรู้ และคิดต่าง มากเกินไป

ดูหนังสนุก ก็ทำให้อยากจะไปหาหนังสือมาอ่าน จำได้คลับคล้ายว่าคุณภัควดีนักแปลในดวงใจ แปลไว้ในชื่อ “สมัญญาแห่งกุหลาบ” กลับไปเมืองกรุงคราวนี้ คงต้องไปตามหามาอ่านกัน คงได้รายละเอียดปลีกย่อยที่หนังไม่ได้พูดถึงอีกมากแน่นอน

หนังสือ The name of the rose เขียนขึ้นในปี 1980 โดย Umberto Eco ชาวอิตาเลียน
หนังเรื่อง The name of the rose สร้างในปี 1986 โดย Jean-Jacques Annaud ชาวฝรั่งเศส
ภาษาไทยชื่อ สมัญญาแห่งกุหลาบ แปลโดย ภัควดี วีระภาศพงษ์ใน ปี 2001 (พิมพ์ครั้งที่ 2)

Mod-x 

Leave a Reply