Nov 15

ในห้องเรียนภาษาเยอรมันเมื่อวาน เกือบจะกลายเป็นห้องเรียนประวัติศาสตร์และการเมือง เมื่อบทที่ 8 ของหนังสือสอนเกี่ยวกับเรื่อง Preposition แต่กลับมีเรื่องราว (Story) หลัก เป็นประวัติศาสตร์เยอรมันเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 กำแพงเบอร์ลิน และผังการเมืองของประเทศเยอรมัน ไม่แปลกเพราะหนังสือที่เราใช้เรียนเป็นหนังสือจากประเทศเยอรมัน แต่น่าเบื่อเพราะมดถูกสาปให้กลายเป็นหินด้วยคำถามง่าย ๆ ว่า สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในปีใด!!

เริ่มแรกเราเรียนเรื่องการอ่านชื่อปีเป็นภาษาเยอรมัน เช่น “neunzehnhundertzweiundzwanzig” คำยาว ๆ แบบนี้เขียนเป็นปีคือ 1922 ในแบบฝึกหัดก็จะมีคำแบบนี้อยู่สิบกว่าคำ ครูลูเชอร์ก็ให้แต่ละคนออกไปเขียนบนกระดานหน้าห้อง จริง ๆ แล้วมันง่ายมาก แสนจะง่าย แต่ครูลูเชอร์ก็ทำให้มันยากซะอย่างนั้นด้วยการถามว่า “คุณรู้รึเปล่าว่าปีที่คุณเขียนเกิดอะไรสำคัญขึ้นบนโลก”??!!

เมื่อวานรูบี้กลายเป็น queen of the queen เพราะมีเพียงเธอเท่านั้นที่ตอบได้ทุกอย่าง (รูบี้อายุ 39 ปี มาจากประเทศสโลวาเกีย) และน่าแปลกที่เมื่อวานเธอนั่งนิ่ง ๆ ยิ้มน้อย ๆ พองาม ไม่แย่งใครตอบเหมือนเคย เธอรอเวลา ปล่อยให้ความเงียบทำงานสักพัก พอครูลูเชอร์หันไปสบตาเธอ รู้บี้ก็จะตอบออกมาอย่างชัดถ้อยชัดคำ อธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนั้น ๆ โอเครูบี้ เธอเอามงกุฎไปได้

ครูลูเชอร์แก้ไขสถานการณ์ให้ ด้วยการพูดว่า เหตุการณ์บางปีสำคัญสำหรับคนยุโรป เช่นปีที่ค้นพบอเมริกา ปีที่ทุบกำแพงเบอร์ลิน ปีที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ปีที่เกิดการปฎิวัติการปกครองของฝรั่งเศส ปีที่เกิดการปฎิวัติศาสนาคริสตร์ ฯ มีหลายคนมาจากอีกทวีปที่มีวัฒนธรรมต่างกัน ก็อาจจะมีปีที่สำคัญที่น่าจดจำต่างกันไปด้วย เช่นปีที่ประเทศเกิดสงครามครั้งใหญ่กับเพื่อนบ้าน หรือปีที่ก่อตั้งประเทศ หรืออื่น ๆ ฯ

มดเกือบจะพยักหน้าเห็นคล้อยตามไปด้วย ถ้าไม่ติดว่าถึงจะเป็นเหตุการณ์สำคัญของประเทศไทย ก็ไม่เคยจำได้ซักปี กรุงรัตนโกสินทร์ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปีอะไรก็จำได้ไม่แน่ชัด รู้แต่ว่าสองร้อยกว่าปีมาแล้ว แต่ให้ระบุว่าปีอะไรเป๊ะ ๆ น่ะไม่ได้ หรือปีที่เราหันมาใช้การปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นปีแรกก็จำไม่ถูกว่า 2475 หรือ 2479 ??? โอเค รูบี้เอามงกุฎไปได้

การได้มาอยู่ในประเทศสวิสฯซึ่งเป็นประเทศแถบยุโรป ได้พูดคุยพบปะทั้งกับคนสวิส และคนชาติอื่น ๆ ละแวกนี้มากขึ้น ทำให้รู้ว่า การพูดระบุปีแบบเป๊ะ ๆ ว่า “เมื่อปี 1939 ถึง 1945 เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2″ เป็นเรื่องปกติสามัญ อาจจะเพราะมันอยู่ใกล้ตัว และเป็นสิ่งที่มีผลกระทบกับชีวิตมาจนถึงปัจจุบัน แต่นั่นคงไม่ใช่เหตุผลหลักว่าทำไมคนที่นี่ถึงจำมันได้ มีหลายเหตุหลายปัจจัยที่ทำให้มดและคนทวีปนี้ต่างกันในเรื่องการใส่ใจจดจำประวัติศาสตร์ เอาล่ะขอละเรื่องอดีตไว้ก่อน

เรื่องในห้องเรียนเยอรมันยังไม่จบแค่นั้น เมื่อครูลูเชอร์บอกว่า เราจะไม่เรียนเกี่ยวกับการเมืองของเยอรมันที่อยู่ในหนังสือ มดถอนใจโล่งอกได้แค่ 3 วินาที เพราะครูหยิบกระดาษมาแจกคนละแผ่น ในนั้นเป็นผังของการเมืองประเทศสวิสฯ ซึ่งเราสนใจที่จะรู้มากกว่า เพราะเราอยู่ที่นี่ ครูลูเชอร์ว่าอย่างนั้นนะ

เรื่องการเมืองของที่นี่ มดพอรู้คร่าว ๆ ว่า มีรัฐมนตรี 7 คน ซึ่ง 1 ในเจ็ดจะเป็นนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ representation ประเทศด้วย นอกเหนือจากนั้นไม่รู้แล้ว ซึ่งเรื่องที่รู้นี่ดันมีเขียนไว้ในผังที่ครูแจกหมดแล้ว คำถามที่ครูถามเป็นคำสาปละลอกที่สองที่ทำให้มดกลายเป็นหินแกรนิตอีกครั้ง ครูลูเชอร์ยิงคำถามว่า “มีใครรู้บ้างว่า 7 คนนี้ชื่ออะไร” โอเค รูบี้เอามงกุฎไป! ตบท้ายของการเรียนครูยังบอกอีกว่า พรุ่งนี้ให้ทุกคนเตรียมมาพูดถึงการเมืองประเทศตัวเองคนละ 3 นาที อืมมม.. นายกฯ คนปัจจุบันของเราชื่อ สุรยุทธ์ หรือ สรยุทธ์นะ เอ๊ะ แล้วท่านนามสกุลอะไรกันแน่ มียศเป็น พลเอก หรือ พลอะไร !!??

กลับถึงบ้านด้วยจิตใจห่อเหี่ยว เหมือนนักรบที่เตรียมตัวไปสู้อย่างดีด้วยอาวุธที่ตัวเองถนัด ทั้งไม่เคยคิดมาก่อนว่าในสนามประลองนี้ จะมีการใช้อาวุธอย่างอื่นด้วย เล่าให้คุณอ้วนที่บ้านฟังถึงเหตุการณ์ทั้งหมด กลับโดนตอกย้ำว่า “ยูไม่สนใจอดีตซึ่งก็คือประวัติศาสตร์ ยูไม่สนใจปัจจุบันที่จะมีผลต่ออนาคตซึ่งก็คือการเมือง แล้วยูก็นั่งรออนาคตเพียงหวังจะให้มันดี ก็เหมือนยูไม่ได้ออกไปทำงานแล้วนั่งรอเงินตกจากฟ้าน่ะแหละ” … โอเค ไม่เอามงกุฎก็ได้!!

Mod-x
ป.ล. เมื่อคืนหิมะตก เช้ามาหิมะขาวโพลนไปหมดเลย

2 Responses to “มด-ผู้ไม่รู้ประวัติศาสตร์”

  1. นู๋ดี Says:

    คนไทยมักจะเก็บอดีต ประวัติศาสตร์ไว้บนหิ้งเสมอ
    ในขณะที่คนยุโรปหรือประเทศที่เจริญแล้วนำเอาอดีตที่เจ็บปวดมาปรับปรุงและแก้ไข
    ปัจจุบันคนไทยมาจะอยู่ ยุ่งกับตัวเอง เรื่องของสังคมก็คือเรื่องของสังคมซิมาเกี่ยวอะไรกับฉัน
    ขณะที่ประเทศที่เจริญแล้วเค้าจะช่วยกันทำให้สังคมดีและเข้มแข็ง
    เพราะฉะนั้นอนาคตของคนไทยก็คงจะคดๆงอๆไปตามเรื่องเปรียบกับต้นไม้ที่ไม่ได้รักการดูแลตัดแต่งกิ่งไม้
    เนี่ยแหละที่เค้าว่า ว่านพืชเช่นใดย่อมได้รับผลเช่นนั้น
    เฮ้อ…เศร้าจังประเทศไทย
    แล้วยังจะมาร้องเอามงกุฎอีก

  2. เจ๊กอ Says:

    จริงๆ ประวัติศาสตร์การเมืองเนี่ยเป็นความรู้รอบตัวที่น่าปวดหัวนะ
    ไม่ตามก็ไม่ได้เพราะมันมีผลกับชีวิต ตามอ่านมากๆๆ ก็โคตรเบื่อโลก

    อาจารย์ที่ มช.ที่สนิทกันคนหนึ่งแกเล่าว่า
    ตอนนี้ นศ.เอกประวัติศาสตร์ต่อปีต่อภาคเรียนมีจำนวนน้อยมากๆ
    เขาว่ากันว่าคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยสนใจอยากเรียนประวัติศาสตร์

    จริงๆ ประวัติศาสตร์นี่ นักเขียนเก่งๆ เขียนอ่านแล้วสนุกดีนะ
    หนังสือเล่มไหนโม้อ้างอิงประวัติศาสตร์มาก อ่านแล้วติดหนับเพราะสนุกเป็นบ้า
    แต่ไหงตำราประวัติศาสตร์ตอนเราเรียนนี่ เขียนได้โคตรน่าเบื่อเลย 55
    ไม่เคยได้มงกุฎเหมือนกัน แต่ปี 2475 นี่ จำได้แม่น เพราะเกิดทัน ฮี่ๆ

Leave a Reply