Mar 19

เหตุการณ์แผ่นดินไหว+สึนามิที่เกาะฮอนชูประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 นอกจากจะสร้างความพินาจย่อยยับให้กับอาคารสถานที่ บ้านเรือน ถนนหนทางแล้ว ยังสร้างความเสียหายอันน่าสะพรึงกลัว เมื่อเกิดผลกระทบต่อเตาปฎิมากรของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ทำให้เกิดการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีแพร่ไปในท้องอากาศ แต่ที่น่ากลัวว่านั้นก็คือ “ข่าวลือ” ที่ตามมานั่นเอง

ในปัจจุบัน ข่าวสารมาถึงตัวเรารวดเร็วด้วยเทคโนโลยีเพียงปลายนิ้วสัมผัส รวมไปถึงข่าวลือด้วย ความมักง่ายของคนในปัจจุบันก็คือโน้มเอียงไปยังด้านที่เชื่อต่อข่าวสารที่ได้รับในทันท่วงที และไม่พร้อมจะสละเวลาไปสืบค้นหาความจริงที่ลึกลงไปกว่านั้น หรือแม้กระทั่งไม่ยอมรับว่าตนเองนั้น “ไม่รู้” แต่คิดว่า “รู้” เพียงเพราะได้เสพข่าวที่มาไวไปไว — อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ บอกไว้ว่า Information is not knowledge — ข่าวสาร ไม่ใช่ ความรู้

การเสพข่าวสารทุกวี่ทุกวัน ไม่เป็นการรับประกันว่าเราได้สร้างต่อมความรู้ขึ้นมา นอกจากนั้น เราอาจจะตกเป็นเหยื่อของใครบางคนที่ใช้ความโง่เขลาในการเสพข่าวสารแบบพล่อย ๆ ของเราได้อีกด้วย ยกตัวอย่างง่าย ๆ ว่า ถ้ามีใครมาเดินขบวนต่อต้านการสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ในตอนนี้ โดยใช้ข่าวภัยพิบัติที่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นเป็นข้อมูล ขอให้ตอบโดยความคิดแรกที่เกิดขึ้ันในสมองว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในการสร้าง??

ผู้ที่เสพข่าวสารแบบฉาบฉวย จะตระหนกในอันตรายของสารกัมมันตภาพรังสี และภาพข่าวของคนญี่ปุ่นที่กำลังเผชิญกับการรั่วไหลของสารพิษ โดยไม่ได้ค้นคว้าให้แน่ชัดว่า โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์คืออะไร? สร้างทำไม? มีข้อดีข้อเสีย? สิ่งทีเกิดที่ญี่ปุ่นเกิดขึ้นได้อย่างไร? ถ้าเพียงใส่ใจที่ค้นหาความจริง เราอาจจะไม่กระโจนลงไปในสนามแห่งการต่อต้าน และอาจจะหาคำตอบให้กับตัวเองได้ว่า ทำไม? และหาข้อมูลมารองรับกับความเชื่อของเราได้อย่างเพียงพอมากกว่าแค่เสพข่าวสารที่ถูกป้อนให้อย่างง่ายดาย

มดไม่ได้ถือตนเองว่า เป็นผู้รู้มากกว่าคนอื่น แต่มักจะพาตัวเองไปหาข้อมูลที่พอจะทำให้ตัวเองยอมรับได้ว่า เราต่อต้านหรือสนับสนุนในพื้นฐานของความเข้าใจ สำหรับมด คำตอบที่จะให้กับการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์นั้น มีมากกว่า Yes or No – สร้าง หรือ ไม่สร้าง? เพราะมันมีคำถามอื่นมากกมายก่อนที่จะต้องตอบคำถามในการสร้างหรือไม่สร้าง

- เรายอมรับและมองเห็นหรือไม่ว่าชีวิตในทุก ๆ วันของเราเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ไปกับไฟฟ้า?
- เราพร้อมหรือยังที่จะลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในบ้านเราเอง ดูทีวีน้อยลง ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าน้อยลง ใช้โทรศัพท์น้อยลง ใช้แอร์น้อยลง ฯ ?
- เราพร้อมหรือยังที่จะจ่ายค่าไฟที่แพงขึ้น?
- เราพร้อมหรือยังที่จะใช้สินค้าอุปโภคบริโภคที่แพงขึ้น เมื่อไฟฟ้าแพงขึ้น?
- เราพร้อมหรือยังที่จะไม่สนับสนุนห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ โรงมหรสพขนาดใหญ่ ด้วยการลดการเข้าใช้บริการ และอยู่บ้านมากขึ้น?
- เราพร้อมหรือยังที่จะลดการผลิตสินค้าเพื่อลดการเป็นประเทศอุตสาหกรรมส่งออก?
….ฯลฯ
- เราพร้อมหรือยังที่จะใช้ชีวิตที่พอเพียง และกลับไปอยู่กับธรรมชาติมากขึ้น?

ถ้าเราไม่พร้อมในคำถามมากมายข้างต้น คำถามที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันไปทั้งหมด เช่น หากไม่มีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ เกิดการลดการจ้างงาน ผู้ค้าไม่สามารถขายสินค้าได้ โรงงานปิด ลดการจ้างงาน ประเทศลดการพัฒนาในเชิงทุนนิยม — ถ้าเราพร้อมที่ก้าวช้าลง หรือ อาจจะต้องก้าวถอยหลังไป ถ้าพร้อมที่จะไปยังจุดนั้นจริง ๆ เราก็ไม่จำเป็นต้องถามกันว่า จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์หรือไม่?

แต่ถ้าคำถามข้างต้นโดยส่วนใหญ่แล้วเรายอมรับได้ว่า ไม่พร้อมจะถอยกลับไปยังจุดนั้น ก็ถึงเวลาที่จะมาทำความเข้าใจว่า ในโลกที่เราบริโภคพลังงานอย่างไม่มีขีดจำกัดทั้งทางตรงและทางอ้อมนั้น มีแหล่งพลังงานใดที่จะรองรับความต้องการของเราได้ขนาดนั้น และถ้าคำตอบจากการค้นคว้าของเราพบว่า พลังงานนิวเคลียร์คือคำตอบที่เหมาะสมที่สุดในปัจจุบัน เราก็ต้องมาทำความเข้าใจกับจุดดีและจุดเสียของมัน

เมื่อเราชื่นชมกับจุดดี และ ยังไม่พร้อมจะยอมรับกับจุดเสียของมัน ก็ต้องย้อนกลับไปยังคำถามมากมายข้างต้นอีกครั้ง “เราพร้อมหรือยังที่จะใช้ชีวิตพอเพียงและกลับไปอยู่กับธรรมชาติมากขึ้น?”

Mod-x
ป.ล. หาอ่านข้อมูลง่าย ๆ ของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ได้ที่นี่

Leave a Reply