Feb 18

ในปีพ.ศ. 2551 นี้ มดได้พาตัวเอง(และถูกคนอื่นพา)ให้มาใช้ชีวิตอยู่ในช่วงอายุที่ขึ้นเลข 3 นำหน้า ย้อนไปเกือบยี่สิบปีก่อนมีเพลงลูกทุ่งสนุก ๆ ว่า “สามสิบยังแจ๋ว” เป็นการอธิบายค่านิยมของคนสมัยนั้นได้ดีว่า ผู้หญิงในตอนนั้นเมื่อเริ่มอายุเข้าสามสิบคงไม่ค่อยแจ๋วในสายตาผู้ชายเท่าไหร่ ถึงได้มีเพลงเอาใจว่า เอาน่า ยังแจ๋วอยู่เลย

ถึงตอนนี้น่าจะเป็นเพลง ห้าสิบยังแจ๋วมากกว่า เพราะผู้หญิงไม่ยอมแก่ไม่ยอมเหี่ยวกันเลย ไม่ว่าจะด้วยวิทยาการทางวิทยาศาสตร์ หรือ ความเป็นอยู่อันสุขสบายขึ้นก็ตาม ถ้ามีใครมาร้องเพลง สามสิบยังแจ๋วให้ รับรองว่าหญิงไทยคงหน้านิ่ว ขมวดคิ้วงง ๆ พลางตอกกลับมาว่า ร้องเพลงอะไรไม่เข้าท่า

เอาล่ะ มดไม่ได้จะเขียนถึงเรื่องแจ๋วหรือไม่แจ๋ว แต่มดมานึก ๆ ดูว่าหากให้มดเลือกอยากจะกลับไปใช้ชีวิตตอนช่วงอายุเท่าไหร่มากที่สุด นึกไปนึกมา สำรวจถึงข้อดีข้อด้อยของแต่ละช่วงอายุแล้ว มดกลับอยากใช้ชีวิตในช่วงปัจจุบันมากที่สุด ในวัยที่อายุขึ้นเลข 3 นี่แหละ

มดรู้สึกว่าตัวเองเข้าใจโลกและชีวิตมากที่สุด รู้สึกว่าเป็นช่วงพีคของชีวิต ผ่านร้อนผ่านหนาวมาจนสามารถดำรงตนอยู่อย่างปัจจุบันนี้ได้ ไม่ได้มองโลกด้วยสายตาเพ้อฝันมากไปกว่าความเป็นจริง หรือไม่ได้เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสรรพสิ่ง เอาแต่ใจน้อยลง ฟังคนอื่นมากขึ้น พูดเฉพาะกับคนที่คิดว่าฟังเรามากกว่าพูดไปเรื่อยเปื่อย อยากให้มากกว่าอยากรับ เรียกร้องความสนใจน้อยลงมาก มีตัวเองเป็นปัจจัยมากกว่าอาศัยลมหายใจคนอื่น เข้าใจเรื่องยาก ๆ ในสถานการณ์ของคนอื่นได้ง่ายขึ้น สนใจตัวเองน้อยลงแต่สนใจเรื่องรอบตัวมากขึ้น ฯ

ไม่ได้รู้สึกแค่กับตัวเองเท่านั้น แต่ยังรู้สึกเผื่อแผ่ไปยังเพื่อน ๆ รอบตัวด้วย รู้สึกว่าเพื่อนในวันที่มีเลข 3 นำหน้านั้น เป็นเพื่อนที่เรามีความสบายอกสบายใจที่จะคบหากันมากที่สุด อาทิเช่น

ในวัยนี้เราไม่จำเป็นต้องดัดเสียงเล็กเสียงน้อย พูดไปทิ้งสายตาไป หรือหัวเราะเหนียม ๆ แต่เป็นวัยที่เป็นธรรมชาติที่สุด เป็นตัวของตัวเองแบบที่ไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว เสียงหัวเราะของพวกเธอไม่ว่าจะกังวานใสหรือห้าวก้องมันคือความหมายของความสนุกสนานร่าเริง และในความเป็นธรรมชาตินี้เอง ส่งให้พวกเธอดูสวยงามที่สุดเช่นกัน เหมือนพวกเธอเข้าใจแล้วว่า ผู้หญิงนั้นสวยทุกคน และการเรียนรู้ที่จะใช้จริตมารยาแบบพอเหมาะพอดีนั้นเป็นอย่างไร

ในวัยนี้พวกเธอเข้าใจคำว่า “อะไรก็ได้” อย่างที่ตรงกับความหมายของมันที่สุด ไม่ใช่ “อะไรก็ได้” เหมือนเมื่อตอนยี่สิบต้น ๆ ที่คำ ๆ นี้แปลว่า “อะไรที่ฉันพอใจ” เช่นเมื่อรวมสมัครพรรคพวกกันได้ครบ ตั้งใจจะไปหาอะไรอร่อย ๆ กิน ทุกคนต่างบอกว่า “อะไรก็ได้” เมื่อเดินผ่านร้านข้าวมันไก่ บางเสียงก็บอกว่า “ไม่เอาอ่ะ เบื่อแล้ว” พอจะเดินเข้าร้านสุกี้ อีกเสียงก็ส่งสูงมา “สุกี้อีกแล้ว?” แต่ในวัยเลขสาม ขอแค่มีใครเดินนำเข้าร้านอะไรซักอย่าง ทั้งขบวนก็จะเดินตามกันไป เพราะจุดประสงค์ใหญ่คือการเมาท์ไม่ใช่การกิน

และสำคัญที่สุดก็คือ ในวัยนี้พวกเธอมีเหตุผลมากที่สุด เธอเข้าใจแล้วว่าโลกนี้มีหลายสี ไม่ใช่แค่ขาว ดำ เทา อย่างที่ใคร ๆ เค้าพูดกัน หากแต่ว่าหลากหลายไปด้วยล้านเฉดสีตามความละเอียดของพิกเซล และเธอก็เข้าใจความเป็นไปของโลก กะลาของพวกเธอแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ เพราะต่างช่วยกันกระเทาะให้กันและกัน

มดรักตัวเองและเพื่อน ๆ ในวัยนี้ที่สุด (และคงจะเขียนแบบนี้อีกครั้งเมื่อขึ้นเลข 4)

Mod-x

2 Responses to “ผู้หญิงไทยวัยสามสิบ”

  1. Color Says:

    รวมเราด้วยป่าวน่ะ

  2. Anonymous Says:

    เขียนได้น่ารักจังเลยค่ะ

Leave a Reply